วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

จงลงทุนในประสบการณ์ (Experience) ที่ไม่อาจแสวงหาได้จากตำรา 10,000 เล่ม

จงลงทุนในประสบการณ์ (Experience) ที่ไม่อาจแสวงหาได้จากตำรา 10,000 เล่ม
............................................ โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
มหาวิทยาลัยสยาม

หากเพียงแค่ท่องตำรา แล้วรวยได้ โลกนี้ก็คงไม่มีคนยากไร้แล้ว คนที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ เกือบทุกคนล้วนต้องเคยเผชิญ “ความล้มเหลวแบบแรงๆ” มาอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต

ความล้มเหลวไม่ได้ทำให้คนฉลาดขึ้น แต่มันช่วย “กระตุ้น” ให้คนฉลาดตื่นขึ้นมาพบความจริง

ทฤษฎีที่ร่ำเรียนมานับ 10 ปี หากไม่เจอความล้มเหลวกระแทกหน้า มันก็จะกลายเป็น “ตะกอนแห่งข้อมูล” ที่เรียงต่อกันในหัวสมองของเรา

หากเมื่อเจอประสบการณ์แรงๆ กระทบเข้ามา ความรู้ทั้งมวลที่เคยกระจัดกระจาย ก็จะตกผลึกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างความรู้และการกระทำอีกต่อไป

การลงทุนในประสบการณ์ (Experience) จึงเป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่เติบโตและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เวลาและทรัพยากรของเรามีจำกัด ดังนั้น บางสิ่งที่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นได้ โดยไม่ต้องทดลองซ้ำด้วยประสบการณ์ของตัวเองก็ย่อมเป็นเรื่องดี เพื่อจะได้นำทรัพยากรที่ประหยัดได้ ไปใช้ลงทุนในประสบการณ์ที่สำคัญเท่านั้น

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรเป็นสิ่งที่ต้องลองเองถึงจะรู้แจ้ง อะไรเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นได้

ผมคิดว่า เราไม่อาจกำหนดเป็นสูตรสำเร็จแบบง่ายๆ ได้เลย

คำแนะนำของผมก็คือ หากความรู้สึกของเราบอกว่า “ใช่” ก็จงลงมือทำอย่างเต็มที่ อย่ารอให้ทุกอย่างพร้อม อย่ารอให้ถึงวันพรุ่งนี้

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมากกว่าแรงงาน เราก็ควรเริ่มทีละน้อย

สมมติว่า เรามีเงินเก็บ 1 ล้านบาท ก็ไม่ควรนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในหุ้น แต่ควรแบ่งเงินมาเพียง 1 แสนบาท เพื่อหาประสบการณ์จริง หลังจากนั้น บทเรียนทั้งความสำเร็จและล้มเหลวจะช่วยบอกเราว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป

สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ ประสบการณ์ที่จะทำให้เราตื่นรู้และเติบโตได้ จะต้องมีรายละเอียด (Detail) ไม่ใช่เป็นประสบการณ์ที่ฉาบฉวย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ดังนั้น หากเราเลือกจะเป็นนักลงทุนระดับเซียนหุ้น เราก็ต้องตั้งใจศึกษาข้อมูลอย่างเต็มที่ วิเคราะห์ทุกปัจจัยอย่างรอบด้าน เมื่อเข้าซื้อหุ้นแล้วผิดพลาด ก็ต้องหาเหตุผลมาอธิบายให้ได้ว่า มันเกิดจากอะไร

การค้นหาสาเหตุของความล้มเหลว เป็นกุญแจของความสำเร็จที่ยั่งยืน

เหตุผลอาจมีเป็นล้าน แต่ละคนก็อาจให้คำตอบแตกต่างกันไป แต่หากเราเปิดใจและใคร่ครวญอย่างรอบด้าน สักวันหนึ่งคำตอบที่ถูกต้องก็จะโผล่ขึ้นมา

มันอาจมีคำตอบมากกว่า 1 แต่มันต้องมีสักอันที่เราสามารถนำไปใช้ทำเงินได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

เคล็ดลับสำคัญก็คือ หากต้องค้นหาคำตอบเพียงลำพัง เราอาจใช้เวลาศึกษาไปชั่วชีวิต คงไม่มีเวลาไปแสวงหาช่องทางทำเงินแบบอื่นเลย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเวลาสำหรับการเสพสุขและแสวงหาความรื่นรมย์ให้ชีวิต

ดังนั้น หนังสือจากนักลงทุนชั้นเซียน ไม่ว่าจะเป็น “เหนือกว่าวอลล์สตรีท” ของปีเตอร์ ลินซ์ หรือว่า “หุ้นสามัญกับกําไรที่ไม่สามัญ” ของฟิลิป ฟิชเชอร์ ก็อาจมีคำตอบดีๆ ให้เราได้ โดยที่เราไม่ต้องไปผ่านประสบการณ์จริงอีก 100 ครั้ง เพื่อที่จะได้คำตอบเหล่านั้น

การอ่านหนังสือของนักลงทุนชั้นเซียนนับ 10 เล่ม ก่อนที่จะได้ลงทุนจริง แม้ว่าจะให้ความรู้ในระดับหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อได้เข้าสู่สนามรบจริง ที่เต็มไปด้วยความโลภ ความหวั่นกลัว การครุ่นคิด และความบ้าคลั่ง การกลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิมอีกครั้ง ก็จะช่วยเปิดหูเปิดตา และทำให้เราค้นพบ “ความลับ” ของบางประโยค ซึ่งเราเคยอ่านผ่านตา จดจำได้ แต่ไม่เคยเข้าใจความหมายเลย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าประสบการณ์ไม่เพียงมีคุณค่าในการกระตุ้นให้ตัวเราได้เรียนรู้ หากยังช่วยให้เราสามารถซึมซับประสบการณ์ของผู้อื่นมาใช้ได้ดีกว่าเดิมด้วย

การหาเงินในยุคนี้ ย่อมแตกต่างจากยุคเดิม นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง โรงงาน เครื่องจักร และเทคโนโลยี กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและเสื่อมค่าได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ลำพังเพียงการเสพข้อมูลมหาศาล แล้วคิดว่าจะเปลี่ยนข้อมูลเป็นเงินทองได้ ก็ย่อมเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไป

เราต้องแปลงข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นนวัตกรรม ปรุงแต่งความงามในใจเราให้กลายเป็นศิลปะ จึงจะสามารถเรียกร้องผลตอบแทนทางการเงินที่เราปรารถนาได้

การนั่งคิดในห้องคนเดียว หรือการติดตามความเป็นไปของโลกผ่านทาง Facebook เพียงเท่านั้น ย่อมอาจไม่อาจปลุกเร้า “แรงบันดาลใจ” ที่เพียงพอต่อการสร้างสรรค์ผลงานสุดยอดได้

การออกไปหาประสบการณ์ในโลกกว้าง เพื่อจะเก็บรายละเอียดจากสถานการณ์จริง จึงเป็นเครื่องมือจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม การมุ่งจะหาคำตอบตลอดเวลา ก็กลับทำให้คำตอบนั้นห่างไกลออกไป บางทีการหยุดพักและออกไปเดินเล่น ก็อาจทำให้เราค้นพบคำตอบได้ดีขึ้น การบรรลุความฝันที่ปรารถนา บางครั้งก็ต้องเดินออกนอกเส้นทางไปไกลลิบ 

Steve Jobs ถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง นับเป็นเหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิต แต่มันก็ทำให้เขาได้ออกไปพบโลกใบใหม่ นั่นคือ วงการภาพยนตร์และความบันเทิงจากการเข้าซื้อกิจการของบริษัท PiXar ซึ่งในอนาคตจะได้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่สร้างรายได้ระดับหมื่นล้านบาท หากไม่มีประสบการณ์ตรงในจุดนี้ เขาก็อาจไม่ได้ค้นพบ iPod และ iTunes ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ลำพังจินตนาการและความบ้าระห่ำ ย่อมไม่อาจทำให้คนเราก้าวข้ามไปสู่ธุรกิจใหม่ได้อย่างมั่นใจ

แน่นอนว่า Steve Jobs ดื่มด่ำในเสียงดนตรีแต่การสร้างธุรกิจที่ต้องเข้าไปพัวพันกับค่ายเพลงทั้งหลาย ก็ย่อมไม่อาจอาศัยเพียงความหลงใหลและความชอบส่วนตัวได้

ดังนั้น ประสบการณ์ในบริษัท PiXar จึงน่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีซึ่งทำให้ Steve Jobs สามารถเข้าใจถึงวัฒนธรรมและกลยุทธ์ของคนในอุตสาหกรรมบันเทิงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งย่อมเป็นทุนรอนทางความรู้ที่สำคัญในการเสนอตัวเข้าไปสร้างนวัตกรรมให้อุตสาหกรรมดนตรีได้หลอมรวมเข้ากับอุตสาหกรรมไอที โดยความสำเร็จจากภารกิจนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการพลิกโฉมบริษัท Apple ไปตลอดกาล

เมื่อมี iPod และ iTunes เป็นเครื่องนำทาง การทุ่มเทเพื่อพัฒนา iPhone และ iPad ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีเหตุผล ทั้งหมดนี้ได้สร้างรายได้และผลกำไรให้บริษัท Apple อย่างมหาศาล จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลก ในช่วงสั้นๆ ก่อนที่ Steve Jobs จะสิ้นลมหายใจ

การคิดโมเดลธุรกิจที่สวยหรู ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะทำให้เกิดขึ้นจริง บางครั้งก็ต้องเชื่อมโยงและต่อยอดจากประสบการณ์ที่ได้สะสมไว้

อย่างไรก็ตาม เราคงไม่อาจเรียนรู้ทุกเรื่องบนโลก เพื่อจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์เอาไว้ล่วงหน้าได้ เพราะทุกประสบการณ์ที่เราได้รับ ก็ย่อมมีต้นทุนเวลาและทรัพยากรที่ต้องจ่ายออกไป

สิ่งที่ทำได้จริง ท่ามกลางขีดจำกัดของมนุษย์ ก็คือ การปล่อยให้หัวใจได้พาเราไปสู่ประสบการณ์ที่แปลกใหม่โดยไม่ปิดกั้น นี่คือ การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ซึ่งน่าจะให้ประสิทธิภาพมากกว่าการคัดสรรของตัวเราเอง แม้ว่าบางเส้นทางอาจพาเราไปสู่หุบเหว แต่หากเราเปิดใจเรียนรู้ว่าที่ก้นเหวนั้นมีอะไรน่าสนใจบ้าง มันก็ย่อมนำพาเราไปสู่จุดเปลี่ยนพลิกของชีวิตได้เช่นเดียวกัน

เราอาจกังวลว่า เรื่องที่หัวใจเรียกร้อง ส่วนมากจะเป็นสิ่งที่ไร้สาระ แต่จากประสบการณ์ของผม บางครั้งเรื่องเล็กๆ ก็อาจต่อยอดไปสู่สิ่งที่มีคุณค่าได้มากกว่าเรื่องใหญ่ๆ

ยิ่งโลกทุกวันนี้ต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลายมากกว่าเดิม ดังนั้น ประสบการณ์เล็กๆ ที่ดูแล้วไร้ค่าในสายตาของคนยุคก่อน ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่มีค่าในยุคนี้ได้

Facebook ในตอนเริ่มแรก ก็มาจากประสบการณ์ทางตรงของผู้ก่อตั้ง จากการได้ใช้ “หนังสือรุ่น” ของมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งทำให้เกิดเป็นไอเดียที่จะเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ให้มาอยู่ในโลกออนไลน์

มันแทบไม่ได้แสดงถึงคุณค่าที่พิเศษสุดและน่าจดจำเลย แต่เมื่อได้พัฒนาตัวเองไปทีละขั้น จนกระทั่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทุกคนจึงพึ่งตื่นรู้ว่า นี่คือ ธุรกิจใหญ่ระดับแสนล้าน ซึ่งเริ่มจากความปรารถนาเล็กๆของเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ใครจะคิดว่า “เรื่องเล็ก” ที่ดูเหมือนเป็นความหมกมุ่นของวัยรุ่น จะเติบโตมาเป็นปรากฎการณ์สำคัญของโลกใบนี้ได้

สิ่งที่ต้องระมัดระวัง สำหรับการลงทุนในเรื่องประสบการณ์ (Experience) ก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ประสบการณ์นี้ไม่ประสบความสำเร็จ เราควรพักไว้ก่อน หรือประสบการณ์นั้นควรลงทุนเพิ่ม เพราะมันอาจเกิดดอกออกผลไปสู่อนาคตได้

ผมคิดว่าการใคร่ครวญอย่างช้าๆ โดยไม่หมกมุ่นในตัวเอง หากแต่เปิดตามองดูโลกภายนอกอย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้เราตัดสินใจว่าจะละทิ้งหรือลงทุนเพิ่ม

“ประสบการณ์ที่ดี จะให้ผลตอบแทนในทันที” แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเงิน ก็จะเป็นในรูปของความพึงพอใจส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการยอมรับจากคนอื่น ก็อาจเป็นเครื่องชี้วัดที่ดี ขอเพียงแค่ 1 คนที่เห็นด้วยกับเรา ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้การได้ แต่ถ้าทุกคนต่อต้านหมดเลย แสดงว่าน่าจะมีบางอย่างที่ผิดพลาดแล้ว

เมื่อเผชิญกับอุปสรรค ความรู้สึกรักและหลงใหลของเราจะเป็นตัวบอกได้ว่า เราควรจะลงทุนต่อหรือว่าละทิ้งไป

บางคนมองความรักเป็นเรื่องของอารมณ์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว มันยังมีเหตุผลแฝงอยู่อย่างลึกซึ้ง เพราะหากเราทุ่มเทให้สิ่งใดแล้ว มันไม่มีคุณค่าอะไรตอบแทนกลับมาเลย หรือผลลัพธ์ที่ได้เล็กน้อยและเชื่องช้าเกินไป ความรักในหัวใจเราก็จะเริ่มลดน้อยลง

พ่อแม่ที่ว่าสุดประเสริฐอย่างไร ก็ยังรักลูกหลานไม่เท่ากัน โดยพวกท่านก็จะเลือกรักลูกที่สร้างความภาคภูมิใจให้ท่านมากกว่าลูกที่ไม่เอาไหนและสร้างความผิดหวังให้ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่หากเมื่อใดความรักเปลี่ยนเป็นความหลงแล้ว เราจะปิดกั้นตัวเองจากความจริงรอบข้าง การใช้หัวใจและอารมณ์ก็จะเป็นคำตอบที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

นี่คือ สิ่งที่ต้องระวัง

ดังนั้น ขอเพียงเรารักษา “ความรักที่เปิดกว้าง” เอาไว้ได้ เราก็จะไม่หลอกตัวเอง และสามารถค้นพบได้ว่า ประสบการณ์ที่เราได้ทุ่มเทชีวิตให้ในครั้งแรกนั้น เมื่อเวลาผ่านมาถึงตอนนี้แล้ว มันยังมีคุณค่าให้ลงทุนต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร

ในระหว่างอายุ 20-25 ปี ผมนิยมการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เพราะมันทั้งลึกซึ้ง เข้มข้น และรอบด้าน ผมจึงให้คุณค่ากับการลงทุนเรื่องประสบการณ์น้อยเกินไป เพราะคิดเพียงว่า เราสามารถเข้าใจทุกสิ่งได้จากข้อมูล ความคิด และตัวเลขที่รับมา เราจะประหยัดเวลาได้มาก หากไม่ต้องเสียเวลากับประสบการณ์

ประสบการณ์มีข้อเสียเปรียบกว่าเรื่องราวในหนังสืออยู่อย่างหนึ่ง คือ มันเชื่องช้า เต็มไปด้วยบริบทเฉพาะตัว ทั้งกาลเวลาและสถานที่ ยิ่งกว่านั้น มันยังเต็มไปด้วยความขาดแคลนข้อมูล ไม่มีตัวหนังสือให้อ่าน ไม่มีสื่อมวลชนมาคอยสรุปประเด็นที่สำคัญ

แต่ท่ามกลางความเสียเปรียบทั้งมวล ประสบการณ์ก็ยังมีคุณค่าที่ลึกซึ้ง เพราะมันกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเราให้ทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งฟังเสียง อ่านสีหน้า ชิมรสชาติ ใคร่ครวญลางสังหรณ์ ทดสอบกำลังใจ และระมัดระวังในความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของจิตใจมนุษย์ทั้งมวล

ประสบการณ์เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราแปรเปลี่ยนความฝันเป็นความจริงได้ เพราะมันเต็มไปด้วยรูปธรรมและสัมผัสที่ชัดแจ้ง ในขณะที่ความคิดและตัวหนังสือนั้น แม้จะงดงามและสมบูรณ์พร้อมเพียงใด มันก็เป็นเพียงแค่นามธรรมที่เลื่อนลอย

หนังสืออาจถอดบทเรียนมาจากชีวิตจริงที่เข้มข้น แต่ก็ยังมีประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลนั้นอีกมาก ที่หนังสือไม่สามารถถ่ายทอดเข้าสู่เลือดเนื้อและร่างกายของเราได้

การลงทุนในประสบการณ์ (Experience) ในช่วงแรกอาจให้ผลตอบแทนที่เชื่องช้า แต่เมื่อประสบการณ์นั้นได้หล่อหลอมเข้าสู่ชีวิตเราอย่างแข็งแกร่งแล้ว มันก็จะนำไปสู่ค่าตอบแทนทางการเงินที่รวดเร็วและก้าวกระโดดยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น